ChatGPT เป็นเครื่องมือ AI ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และการเขียนคำสั่งที่มีประสิทธิภาพ (prompt engineering) ก็เป็นทักษะที่สำคัญ ในบทความนี้จะแนะนำวิธีเขียนคำสั่งที่ช่วยให้ ChatGPT ให้คำตอบ หรือผลลัพท์ที่ดีที่สุด
1. พูดคุยกับ AI เหมือนที่คุณคุยกับคน
การใช้งาน ChatGPT ต้องปรับมุมมองจากการเขียนโปรแกรมมาเป็นการสนทนา ให้คุยกับ AI เหมือนกับที่คุณคุยกับเพื่อนร่วมงานหรือสมาชิกในทีม ถ้ารู้สึกยาก ลองตั้งชื่อให้ AI เช่น “Bob” เพื่อช่วยให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังคุยกับคนจริงๆ การตั้งชื่อจะช่วยให้คุณเล่ารายละเอียดและเรื่องราวที่ให้บริบทมากขึ้น
เมื่อคุยกับคน เป็นเรื่องปกติที่พวกเขาอาจไม่เข้าใจประเด็นของคุณในตอนแรก และต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม คุณอาจต้องให้ข้อมูลพื้นฐานหรือถามคำถามซ้ำในรูปแบบที่ต่างออกไปตามคำตอบที่ได้รับวิธีนี้เรียกว่า “interactive prompting” หรือการโต้ตอบแบบมีปฏิสัมพันธ์
อย่ากลัวที่จะถามคำถามหลายขั้นตอน: ถาม, รับคำตอบ, แล้วถามคำถามต่อไปตามคำตอบที่ได้ เราเคยทำแบบนี้ 10-20 ครั้งติดต่อกันและได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมาก และจงคิดว่าคิดว่าคุณกำลังสนทนากับ ChatGPT จริงๆ
สรุป : วิธีนี้เน้นการปรับมุมมองในการใช้งาน ChatGPT ให้เหมือนกับการสนทนากับคนจริงๆ ซึ่งจะช่วยให้คุณได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากการใช้งาน AI
2. กำหนดฉากหลัง และให้บริบท
การเขียน Prompt สำหรับ ChatGPT ไม่ใช่แค่การถามคำถามสั้นๆ หนึ่งประโยค แต่มักจะต้องให้ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างบริบทของคำถาม
ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการเตรียมตัวสำหรับการวิ่งมาราธอน:
- คำถามเริ่มต้นแบบง่ายๆ: “ฉันจะเตรียมตัวสำหรับการวิ่งมาราธอนได้อย่างไร?”
- คำถามที่ให้บริบทมากขึ้น: “ฉันเป็นนักวิ่งมือใหม่และไม่เคยวิ่งมาราธอนมาก่อน แต่ต้องการวิ่งให้สำเร็จภายในหกเดือน ฉันควรเตรียมตัวอย่างไร?”
การให้ข้อมูลเพิ่มเติมจะช่วยให้ AI สามารถให้คำตอบที่เฉพาะเจาะจงและมีประโยชน์มากขึ้น
อีกตัวอย่างของคำถามที่ให้บริบท:
“ฉันวางแผนจะเดินทางไปสเปนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และอยากเรียนภาษาสเปนพื้นฐานเพื่อสื่อสารกับคนท้องถิ่น ฉันกำลังมองหาแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่เหมาะสำหรับมือใหม่และมีแนวทางการเรียนที่เป็นระบบและครอบคลุม คุณช่วยแนะนำแหล่งเรียนรู้ออนไลน์สำหรับการเรียนภาษาสเปนสำหรับมือใหม่ได้ไหม?”
สรุป : การให้บริบทที่ชัดเจนในคำถามจะช่วยให้ ChatGPT เข้าใจความต้องการของคุณได้ดีขึ้น และสามารถให้คำตอบที่ตรงประเด็นและมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น
การให้บริบทช่วยให้ AI เข้าใจจุดประสงค์ของคำถามได้ดีขึ้น เช่น:
1. แทนที่จะถามแค่เรื่องแหล่งเรียนรู้ทั่วไป การให้บริบทช่วยให้ AI เน้นไปที่การเรียนรู้เพื่อสื่อสารกับคนท้องถิ่นจริงๆ
2. ตัวอย่างเกี่ยวกับบล็อกเชน: แทนที่จะถามแค่ว่าบล็อกเชนคืออะไรและทำงานอย่างไร การให้บริบทช่วยเน้นไปที่การใช้บล็อกเชนในการจัดการห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะ
การสร้าง Prompt ที่ละเอียด:
เราแนะนำให้จำกัดคำตอบไม่เกิน 500 คำ เนื่องจาก ChatGPT อาจมีปัญหาเมื่อถูกขอให้สร้างเนื้อหาระหว่าง 500-700 คำ
ตัวอย่าง Prompt สำหรับเขียนเรื่องสั้น:
– กำหนดสถานที่และเวลา (บอสตัน ปี 2339 ในร้านหนังสือแบบวิคตอเรียน)
– ระบุตัวละคร (เจ้าของร้าน, พนักงาน, ลูกค้าหลายคน) พร้อมรายละเอียดเฉพาะตัว
– ให้แนวคิดหลักของเรื่อง (ความลึกลับเกี่ยวกับพื้นที่ “ด้านหลัง” ของร้าน)
– ขอให้เล่าเรื่องที่น่าสนใจ และสนุก
การให้รายละเอียดมากขึ้นจะช่วยให้ AI มีข้อมูลในการสร้างเนื้อหาที่ซับซ้อนและน่าสนใจมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการขอแค่ “เขียนเรื่องเกี่ยวกับร้านหนังสือ” ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
สรุป : การให้บริบทและรายละเอียดที่ชัดเจนใน Prompt จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามความต้องการและมีความซับซ้อนมากขึ้น
3. ให้ AI สวมบทบาทหรืออาชีพเฉพาะ
ChatGPT สามารถเขียนจากมุมมองของบุคคลหรืออาชีพเฉพาะได้ เช่น เขียนในสไตล์ของโจรสลัด, เชคสเปียร์, ครู, นักการตลาด หรือนักเขียนนิยาย
ตัวอย่าง: ขอให้ ChatGPT อธิบายอุปกรณ์ Amazon Echo จากมุมมองต่างๆ:
1. มุมมองผู้จัดการผลิตภัณฑ์: เน้นความเป็นนวัตกรรมและการปฏิวัติวงการสมาร์ทโฮม
2. มุมมองผู้ดูแลผู้สูงอายุ: เน้นประโยชน์ในการตั้งเตือนการทานยาหรือนัดหมาย
3. มุมมองนักข่าว: เน้นประเด็นความเป็นส่วนตัวและการเก็บข้อมูลผู้ใช้
การให้ AI ทำการทดลองความคิด:
ตัวอย่าง: จำลองการประชุมบอร์ดของ Amazon ในปี 2012 เมื่อมีการเสนอแนวคิด Echo
“ขอให้ AI แสดงข้อโต้แย้งทั้งฝ่ายสนับสนุน และคัดค้านจากมุมมองของสมาชิกบอร์ด วิศวกร และผู้สนับสนุนโครงการ”
ข้อควรรู้:
การปรับเปลี่ยนคำพูดในคำสั่งเล็กน้อยสามารถทำให้คำตอบของ ChatGPT เปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น การเปลี่ยนจาก “ให้ข้อโต้แย้งทั้งข้อดีและข้อเสีย” เป็น “ให้ข้อโต้แย้งทั้งข้อดีและข้อเสียในรูปแบบบทสนทนา” จะทำให้ ChatGPT เปลี่ยนจากการแสดงรายการเป็นลำดับข้อเป็นบทสนทนาระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม
โดยสรุป การให้ AI สวมบทบาทหรืออาชีพเฉพาะช่วยให้ได้มุมมองที่หลากหลายและน่าสนใจมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนคำสั่งเล็กน้อยสามารถส่งผลต่อรูปแบบการตอบของ AI ได้อย่างมีนัยสำคัญ
4. รักษาทิศทางการสนทนากับ ChatGPT
ChatGPT อาจหลุดประเด็นที่กำลังทำการสนทนา หรือสร้างคำตอบที่ไม่มีมูลความจริง ดังนั้นมีวิธีการบางอย่างที่สามารถช่วยรักษาทิศทาง และความถูกต้องได้:
1. ขอให้ ChatGPT อธิบายเหตุผล:
ใช้คำถามเช่น “ทำไมคุณคิดแบบนั้น?” หรือ “มีหลักฐานอะไรสนับสนุนคำตอบของคุณ?” บางครั้ง AI อาจขอโทษที่ให้ข้อมูลผิดและให้คำตอบใหม่ บางครั้งอาจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับกระบวนการคิดของมัน
2. ในการสนทนาที่ยาว AI อาจหลุดประเด็น:
ค่อยๆ นำ AI กลับมาสู่ประเด็นโดยเตือนว่ากำลังคุยเรื่องอะไร และต้องกาเจาะเข้าไปที่ประเด็นใด
3. ขอให้ AI อ่านคำสั่งซ้ำ:
ใช้เทคนิคการบอกให้ AI “อ่านซ้ำ” ตามด้วยคำสั่งเดิมที่เคยให้ไป ซึ่งเราสามารถปรับหรือเพิ่มเติมคำสั่งได้ตามต้องการ การอ่านซ้ำจะช่วยให้ AI คิดทบทวนและทำความเข้าใจสิ่งที่เพิ่งอ่านใหม่อีกครั้ง
สรุป : เทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้การสนทนากับ ChatGPT มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรักษาความถูกต้องของข้อมูลและทิศทางของการสนทนาให้ตรงประเด็น
5. อย่ากลัวที่จะทดลองและเล่นกับ AI
วิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะการใช้ ChatGPT คือการทดลองใช้งานในรูปแบบต่างๆ คือลองป้อนคำสั่งที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ แล้วดูว่า ChatGPT จะตอบสนองอย่างไร จากนั้นปรับเปลี่ยนคำสั่ง และสังเกตผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างคำสั่งที่น่าสนใจ 5 ข้อ:
1. จินตนาการว่าคุณเป็นหยดน้ำฝนที่กำลังตกลงมาในพายุฝนฟ้าคะนอง บรรยายการเดินทางของคุณ
2. คุณเป็นของเล่นที่ถูกทิ้งไว้ในห้องใต้หลังคาเป็นเวลาหลายทศวรรษ เล่าถึงความรู้สึก ความทรงจำ และความหวังของคุณ
3. เขียนบันทึกประจำวันครั้งสุดท้ายของนักเดินทางข้ามเวลาที่ตัดสินใจตั้งรกรากในยุคสมัยหนึ่ง
4. สร้างบทสนทนาระหว่างวัตถุสองสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เช่น ถ้วยชา กับนาฬิกาข้อมือ
5. บรรยายวันหนึ่งในชีวิตของมดในรังมด จากมุมมองของมดตัวหนึ่ง
คำแนะนำ:
สังเกตไม่เพียงแค่ผลลัพธ์ที่ AI สร้างขึ้น แต่รวมถึงวิธีการที่ AI ใช้ในการสร้างเนื้อหา สังเกตข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจุดที่ AI ดูเหมือนจะเจอข้อจำกัด ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณขยายขอบเขตการใช้งาน AI ได้กว้างมากขึ้น
สรุป : การทดลอง และเล่นกับ ChatGPT จะช่วยให้คุณเข้าใจความสามารถและข้อจำกัดของ AI ได้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
เทคนิคเพิ่มเติมในการเขียนคำสั่งสำหรับ ChatGPT:
1. ถามคำถามซ้ำได้ ChatGPT อาจให้คำตอบที่แตกต่างในแต่ละครั้ง
2. ปรับเปลี่ยนคำสั่งเล็กน้อยเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีขึ้น
3. ChatGPT จะจำบทสนทนาก่อนหน้าเฉพาะในหน้าปัจจุบัน หากออกจากหน้านั้นจะลืมบทสนทนา
4. เปิดหน้าใหม่จะเริ่มการสนทนาใหม่
5. ระบุความยาวของคำตอบที่ต้องการ คำตอบที่ยาวเกิน 500 คำอาจทำให้พบยปัญหา
6. ควรแก้ไข และอธิบายคำสั่งเพิ่มเติมได้หาก AI เข้าใจผิด
7. ปรับคำถามหาก ChatGPT ไม่ได้ให้คำตอบ ใช้การสวมบทบาทเพื่อให้ได้คำตอบ
8. ขอให้ AI อ้างอิงแหล่งที่มาหรือให้เหตุผลสนับสนุนคำตอบ
9. ใช้ Custom Instructions สำหรับคำสั่งที่ใช้บ่อย
10. ทดลองใช้งานอย่างต่อเนื่อง
11. ลองถามคำถามเดียวกันกับ AI ตัวอื่น เช่น Gemini หรือ Copilot
13. ขอตัวอย่างเพื่อตรวจสอบความเข้าใจของ AI
14. ให้ AI ทวนคำสั่งหรือเนื้อหาบางส่วนเพื่อยืนยันความเข้าใจ
15. ยอมรับว่าบางครั้ง ChatGPT อาจล้มเหลว ให้ลองใหม่หรือใช้เครื่องมืออื่นแทน
16. ChatGPT ไม่เหมาะกับการค้นหาเว็บไซต์ (ใช้ Google แทน) หรือการคำนวณ (ใช้ Wolfram Alpha แทน)
17. เราสามารถแชร์ประสบการณ์หรืออารมณ์ส่วนตัวได้
18. การปรับความซับซ้อนของคำตอบ เราสามรถระบุระดับความซับซ้อนในคำสั่ง เช่น “ระดับมัธยมปลาย” หรือ “ระดับปริญญาเอก”
19. เพิ่มรายละเอียดในคำสั่งเพื่อให้ได้คำตอบที่ละเอียดขึ้น โดยใช้คำสั่งเฉพาะ เช่น “สรุป” “อธิบายโดยละเอียด” หรือ “ให้คำอธิบายทางเทคนิค”
20. สร้างโปรไฟล์ล่วงหน้า เช่น กำหนดลักษณะของผู้จัดการหรือโปรแกรมเมอร์
สรุป : การใช้งาน ChatGPT อย่างมีประสิทธิภาพต้องเข้าใจจุดแข็งและข้อจำกัด ต้องรู้จักปรับแต่งคำสั่งให้เหมาะสม และยืดหยุ่นในการหาวิธีการได้คำตอบที่ต้องการ